หน้าใหม่

รองผู้ว่าฯกทม. จักกพันธุ์ ผิวงาม เป็นประธานประชุมติดตามตรวจสอบการแก้ปัญหาผลกระทบโรงงานกำจัดมูลฝอย 800 ตัน/วัน ร่วมกับตัวแทนชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหากลิ่นและความปลอดภัย

 

   วันที่ 2 กันยายน 2565 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน ที่โรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นายณัฐวัฒน์ พอใช้ได้ ที่ปรึกษาบริษัท นายณัฏฐพล ปักษี รองกรรมการผู้อำนวยการบริษัท ร่วมให้การต้อนรับและชี้แจงความคืบหน้า
 
   ตามที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตัน/วัน โดยมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งราชการสำนักสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะกรรมการฯ จึงได้จัดประชุม ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับตัวแทนชาวบ้านอิมพีเรียล พาร์ค จำนวน 11 คน และผู้แทนชุมชนกับหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบอีก 3 แห่งพร้อมด้วย รองปลัดกรุงเทพมหานคร รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ผู้อำนวยการกองกำจัดมูลฝอย หัวหน้าศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม สภาวิศวกร สำนักอนามัย และมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมประชุม ซึ่งรองผู้ว่าฯกทม.กล่าวเปิดและรับฟังการชี้แจงความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไขปัญหาของโรงงานตามคำสั่งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตั้งแต่เดือน เมษายน 2565 ที่ผ่านมา
 
   นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ตามที่รับฟังจากที่ประชุมสรุปประเด็นที่กรุงเทพธนาคมชี้แจง และรับฟังข้อท้วงติงและปัญหาของชาวบ้านได้ พอสรุปโดยสังเขปดังนี้
 1. ขณะนี้กรอ.ยังไม่ได้อนุญาตให้โรงงานรับขยะเข้ามาดำเนินการเชิงพาณิชย์ ซึ่งก่อนเปิดดำเนินการจะต้องมีการทดลองระบบที่ได้ทำการแก้ไขปรับปรุงก่อน
 2. การเริ่มทดลองกำจัดขยะเพื่อดูประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ ที่บริษัทได้ทำการแก้ไขปรับปรุงว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ จะดำเนินการแบบขั้นบันได จากน้อยไปจนเต็มระบบ
 3. ที่ผ่านมาการแก้ไขให้เป็นระบบปิด ได้ผลเป็นระบบปิดจริงหรือไม่? เช่น บริเวณด้านล่างของประตูปิด-เปิดจะสามารถเพิ่มยางปิดคลุมลงมาให้มิดชิดขึ้น น่าจะสามารถทำได้
 4. ทางโรงงานแจ้งว่าได้ซ่อมเครื่องดูดอากาศ 2 ตัวที่ชำรุดเรียบร้อยแล้วนั้น ขณะนี้ใช้งานได้จริงหรือไม่? และจะเพียงพอในการบำบัดกลิ่นหรือไม่ หากมีการติดตั้งระบบเพิ่มเติมอีก จะช่วยให้การทำงานของระบบเดินต่อไปได้กรณีที่มีเครื่องตัวใดเสียหรือขัดข้อง ก็จะเกิดประโยชน์กับโรงงานมากขึ้น
 5. ข้อแนะนำจากชาวบ้านให้เพิ่มม่านพลาสติกเหมือนกับห้องเย็น เป็นข้อเสนอแนะที่น่าจะทำได้ง่ายและใช้งบประมาณไม่สูง สร้างความสบายใจให้กับชาวบ้าน
 6. ให้โรงงานเพิ่มเติมระบบความปลอดภัยทั้งเรื่องมาตรการป้องกันอุบัติเหตุระบบดับเพลิงตามมาตรฐานฯและระบบตรวจจับก๊าซเชื้อเพลิงรั่ว
 7. ให้บริษัทจัดทำแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องเสียงรบกวนรวมทั้งเสียงรถขยะในยามวิกาล
 8. ปัญหาการระบายน้ำภายในโรงงานในกรณีที่มีฝนตกมีน้ำไหลออกนอกโรงงานกระทบกับชุมชนด้านนอก
 9. ให้บริษัทจัดทำกลุ่มไลน์ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” เพื่อช่วยสนับสนุนการสื่อสารระหว่างกันของคณะกรรมการฯ
 10. กรรมการผู้แทนชาวบ้านขอให้ข้อเสนอแนะทุกข้อที่กล่าวมาบริษัทฯ จะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อน จึงจะพิจารณาเรื่องการรับขยะเข้ากำจัดในระบบต่อไป
 
 
   ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อกังวลในเรื่องกำลังการบำบัดของระบบบำบัดอากาศภายในอาคารที่มี 2 เครื่องนั้น ได้สั่งการให้วิศวกรโครงการไปคำนวณปริมาตรอากาศภายในโรงงานและกำลังการทำงานของเครื่องเพียงพอหรือไม่? หากไม่เพียงพอก็จำเป็นต้องติดตั้งเพิ่มอีกตามข้อห่วงใยของประชาชน เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนมานำเสนอต่อคณะกรรมการ ซึ่งเป็นไปตามหลักวิศวกรรมสามารถอธิบายได้

 

ลงวันที่ 2 กันยายน 2565

 

 

Visitors: 65,994