"กรุงเทพธนาคม" ให้การต้อนรับคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างงบประมาณฯ สภากทม.
เผยค่ากำจัดขยะติดเชื้อที่ดำเนินการให้กับกทม.เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 นายณัฏฐพล ปักษี รองกรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มสิ่งแวดล้อม บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด พร้อมด้วยนาย อาฤทธิ์ ศรีทอง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างงบประมาณปี 2566 และคณะในโอกาสตรวจเยี่ยมโครงการบริหารจัดการมูลฝอยภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาด 800 ตันต่อวัน ของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด
นายสุทธิชัย กล่าวว่า โครงการนี้ทางสภากทม.ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีการร้องเรียนจากประชาชน ทางคณะอนุกรรมการฯจึงได้ขอทราบข้อมูลการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่ขั้นตอนการว่าจ้างที่ทางสำนักสิ่งแวดล้อม ว่าจ้างกรุงเทพธนาคม และสัญญาที่กรุงเทพธนาคมจ้างผู้รับเหมาเพื่อเดินระบบ ตลอดจนเงื่อนไขการรับขยะและค่าปรับต่างๆ
ด้านนายณัฏฐพล กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับการว่าจ้างจากสำนักสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาด 800ตันต่อวัน เป็นระยะเวลา 20 ปี เพื่อเป็นโครงการนำร่องใช้เทคโนโลยี MBT หรือเทคโนโลยีเชิงกลชีวภาพ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ ได้ผลพลอยได้เป็นเชื้อเพลิง RDFและผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ เพื่อทดแทนการกำจัดขยะของกทม.รูปแบบเก่าที่ใช้วิธีการฝังกลบ บริษัทได้เปิดเดินระบบตั้งแต่ปี 2563 โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงโรงงานเพื่อลดผลกระทบกับประชาชนสร้างระบบปิดคลุมอาคารเพิ่มเติม ติดตั้งและปรับปรุงประสิทธิภาพระบบตรวจวัดและบำบัดกลิ่น โดยในช่วงการหยุดปรับปรุงโรงงานตามคำสั่งของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ได้ติดตั้งระบบต่างๆเสร็จเรียบร้อยในหลายส่วนและเชิญผู้แทนหน่วยงานและผู้แทนชุมชนมาตรวจติดตามเป็นระยะ
ซึ่งขณะนี้บริษัทฯได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานฯให้ดำเนินการทดสอบรับขยะได้แล้ว แต่เพื่อให้เกิดความสบายใจต่อทุกฝ่ายทางรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้บริษัทเชิญผู้แทนชุมชนเข้ามาตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้งก่อนเปิดดำเนินการ จึงได้เรียนเชิญชุมชนมาร่วมตรวจติดตามในรูปของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ภายในสัปดาห์นี้
นอกจากนี้ทางคณะอนุกรรมการฯ ยังได้สอบถามถึงการดำเนินโครงการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของบริษัทที่รับว่าจ้างดำเนินการให้กับกทม. โดยบริษัทมีความสามารถในการรับกำจัดขยะติดเชื้อได้ที่ 70 ตันต่อวัน แต่จากสถานการณ์โควิด-19ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณขยะสูงกว่าภาวะปกติอย่างมากโดยมีขยะติดเชื้อมากที่สุดถึงวันละ 120 ตัน ทั้งนี้บริษัทได้ปรับแผนการทำงาน โดยจัดเพิ่มเวลาจัดรถเข้าเก็บ มูลฝอยและเปิดเดินระบบเผากำจัดตลอด24 ชั่วโมง จนสามารถรองรับสถานการณ์วิกฤติโรคระบาดที่ผ่านมาได้
ทั้งนี้ทางคณะอนุกรรมการได้สอบถามถึงอัตราค่ารับเก็บขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่บริษัทรับค่าจ้างจากกทม. ในปัจจุบันที่อัตรา 13,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นค่าจ้างในอัตราต่ำสุดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้กำหนดค่าเก็บขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อไว้ขั้นต่ำที่ 13,000 บาทต่อตัน สูงสุดกว่า 30,000 บาทต่อตัน โดยปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและสมุทรปราการจ้างเก็บขนและกำจัดที่ประมาณ 15,000 บาทต่อตัน รวมทั้งทางอนุกรรมการฯได้ขอข้อมูลต่างๆ และได้แจ้งให้ทางบริษัทเตรียมข้อมูลเพื่อเข้าชี้แจงในที่ประชุมพิจารณางบประมาณของสภากทม.ที่จะมีการเสนอญัตติเข้าที่ประชุมในเร็วๆนี้ ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะให้ข้อมูลในทุกประเด็น
ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2565