กทม.-กรุงเทพธนาคม เดินหน้านโยบาย “เดินทางดี” ด้วยรถบริการรับส่งผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น” ชวนภาคเอกชน ประชาชนร่วมสร้างกรุงเทพฯเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เตรียมให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น มี.ค.66 หาพันธมิตรจัดรถบริการตามเป้าหมาย 30 คัน
วันที่ 4 ตุลาคม 2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) รองศาสตราจารย์วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวลและดร.พวงพรรณ กริชชาญชัย ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าวขับเคลื่อน นโยบายเดินทางดี ด้วยโครงการรถบริการสำหรับผู้พิการที่ใช้รถเข็น ในการนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมชมการสาธิตการใช้งานรถและปล่อยขบวนรถโครงการฯ อย่างเป็นทางการด้วย
นายชัชชาติ กล่าวว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายสำคัญที่เราจะทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งรวมถึงพี่น้องที่มีข้อจำกัดการเดินทางอย่างผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ ซึ่งโครงการรถรับส่งผู้พิการเป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการที่เราจะเดินหน้า รวมไปถึงการเชื่อมต่อการเดินทางต่างๆ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งเรามีที่ปรึกษาที่เข้าใจผู้ที่ใช้วีลแชร์และมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยได้ทำงานร่วมกับทางทีมอารยสถาปัตย์มาด้วยกันหลายปี ทำให้ในการเดินหน้านโยบายต่างๆ จะสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้วีลแชร์ได้ตรงจุด และเป็นรูปธรรมชัดเจน
ด้านรศ.วิศณุ กล่าว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการโครงการนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยมอบหมายให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้ดำเนินการ ในวันนี้เราก็จะมารื้อฟื้นและปรับปรุง โดยร่วมกันพันธมิตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการตามที่ได้รับฟีดแบ็คเข้ามา ซึ่งในปี 2566 นี้ กรุงเทพมหานครได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 8.9 ล้านบาท ในการให้บริการรถจำนวน 10 คัน และในอนาคตจะขยายโครงการและเพิ่มจุดให้บริการรถรับส่งผู้พิการให้ครอบคลุมในสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข ที่จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้วีลแชร์ได้ตรงเป้าหมาย และครอบคลุมทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ
ขณะที่ด้านศาสตราจารย์พิเศษธงทอง กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับนโยบายจากกรุงเทพมหานครเพื่อให้บริการโครงการอย่างต่อเนื่อง ด้วยรถตู้ที่มีการออกแบบมาเป็นพิเศษ มีลิฟท์ยกวีลแชร์ขึ้นโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้พิการออกจากวีลแชร์ได้อย่างปลอดภัย มีกล้องวงจรปิด มีจีพีเอสติดตามตำแหน่งรถ และพนักงานประจำรถที่ได้รับการอบรมเพื่อดูแลผู้ใช้รถวีลแชร์อย่างปลอดภัย ซึ่งรถตู้ 1 คัน สามารถบรรทุกวีลแชร์ได้ถึง 3 คัน ในเบื้องต้นนี้งบที่ได้รับสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครจะสามารถปรับปรุงรถให้พร้อมบริการได้จำนวน 10 คัน
สำหรับการใช้บริการจะต้องโทรศัพท์จองล่วงหน้า 1 – 2 วัน โดยรถ 1 คันจะให้บริการได้ 2 – 3 เที่ยวต่อวัน ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาแอพลิเคชั่นให้กับทางโครงการ คาดว่าจะเริ่มทดลองใช้งานได้ประมาณเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งจะช่วยให้การเรียกใช้บริการสะดวกขึ้น และมีการเก็บข้อมูลด้วยระบบดิจิทัลที่จะช่วยให้การบริหารจัดการรถ สามารถหมุนเวียน เพิ่มเที่ยววิ่งได้มากขึ้น
นอกจากนี้บริษัท ได้มีความร่วมมือกับบริษัท แบงค็อก ลีฟวิ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดยผู้พิการที่มีเครือข่ายจากหลายภาคส่วน รวมทั้งความร่วมมือกับมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อคนพิการ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และมูลนิธิผู้พิการไทยเพื่อสังคม ที่จะสร้างโอกาสทางด้านอาชีพเพื่อให้คนพิการเข้ามาทำงานในโครงการนี้ด้วย
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง กล่าวด้วยว่า การดำเนินโครงการด้วยงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครเพียงลำพัง ยังไม่เพียงพอรองรับการให้บริการผู้ใช้รถวีลแชร์ในกรุงเทพมหานครได้อย่างทั่วถึง บริษัทฯ จึงเปิดรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ภาคประชาชน ไม่ว่าจะในรูปแบบของการสนับสนุน น้ำมัน ประกัน หรือวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ เช่น ยางรถยนต์ หรือจะร่วมบริจาคเงินในโครงการฯ เพื่อให้บริษัทฯ ได้มีงบประมาณมาปรับปรุงรถเพื่อให้บริการเพิ่มอีก 20 คัน รวมเป็นทั้งหมด 30 คัน เบื้องต้นนี้จะจัดรถ 1 คันประจำที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครด้วย เพื่อให้บริการประชาชนในเขตพระนครและบริเวณใกล้เคียง
ติดต่อขอรับบริการล่วงหน้าได้ที่ 02-294-6524 ทุกวันเวลา 09.00 – 16.00 น. โดยรถจะให้บริการเวลา 06.00-22.00 น. หรือไลน์แอด @taxiwheelchair ส่วนผู้ที่ประสงค์ร่วมบริจาคสนับสนุนโครงการฯ สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดรับบริจาค ได้ที่ www.thanakom.co.th และที่เพจเฟสบุค https://www.facebook.com/KrungthepThanakom
ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2565